อีกหนึ่งปี..ที่กลันตัน
🇹🇭 2019 ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อ 泰文初選 🇹🇭 📜 อีกหนึ่งปี..ที่กลันตัน 👤 กณิศ ศรีเปารยะ “รายอนี้.. ลูกไม่ได้กลับบ้านนะ” ฉันบอกพ่อกับแม่ตั้งแต่ทราบปฏิทินวันหยุดของรัฐกลันตัน “ปีนี้ หยุดจริงๆแค่สองวันเอง….ลายาวเหมือนปีก่อนไม่น่าจะได้… ไว้ลูกค่อยกลับบ้านชดเชยวันหยุดอื่นๆถัดไปนะ” ฉันรีบบอกต่อทันทีเพื่อไม่ให้มีคำถาม เมื่อทั้งสองพยักหน้ารับทราบ จึงเป็นอันเข้าใจตรงกันว่า รายอปีนี้ ฉันจะปักหลักอยู่ที่กลันตันนี้เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง ถ้าถามว่าผ่านรายอมาแล้วสี่ปี ยังไม่เคยสัมผัสความรู้สึกแบบนี้อีกเหรอ…..ก็คงต้องตอบแบบไม่สงวนท่าทีว่า…. “รายอทุกปี.. ฉันหนีกลับบ้านประจำ” นับไปนับมา ฉันใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้ห้าปีกว่าๆแล้วนะ จากก้าวแรกที่ค่อนข้างขรุขระและไม่เป็นมิตร เพราะความคิดเชิงปรปักษ์แบบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง กลันตันก็เป็น “ครู” ที่ทั้งใจดีและเคร่งครัด ที่สอนและทดสอบฉันหลายๆอย่าง บทเรียนที่สำคัญที่สุด คือ สอนให้ “ปล่อยวาง” และ “ทลาย” กรอบของตัวเองลง ในวิถีศาสนาและวัฒนธรรมที่ต่างกัน การแบ่งเขา-แบ่งเรา ไม่อาจช่วยสร้างความเข้าใจได้ แต่การเรียนรู้เขา และอนุญาตให้เขาเรียนรู้เราต่างหากที่สร้างความเข้าใจ ฉันไม่รู้ว่ากำแพงหรือกรอบที่ฉันกอดถือไว้มันถูกปล่อยวางลงตั้งแต่เมื่อไหร่ มารู้เอาอีกทีก็เมื่อตอนที่ตัวฉันได้ข้ามกลับไปกลับมาระหว่าง “ฉัน” (ในฐานะคนไทย-พุทธ) กับ “ฉัน” (ในฐานะคนไทยในวัฒนธรรมมลายู) และ “ฉัน” อีกคน (ในฐานะคนไทยในวัฒนธรรมสยาม) ได้อย่างไม่รู้สึกเคอะเขิน โลกของฉันจึงกลายเป็นโลกผสม ที่มีสีของวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อต่างๆ ปะปนกันอยู่ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าในวันนั้น ฉันจะ “ผสมสี” “ให้น้ำหนัก” และ “สมดุล” มันอย่างไร เมื่อมองบริบทแวดล้อม สำคัญกว่ามองแต่ตัวเอง ฉันจึงพบว่า จริงๆแล้ว ผู้คนในกลันตัน ต่างเป็นผู้คนที่มีอัตลักษณ์ที่สามารถ “ข้าม” และ “ปรับ” กลับไปกลับมากันทั้งนั้น กลันตันมีทั้ง “ผู้พำนัก” ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์มลายู ซึ่งในปัจจุบันนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์ชาวสยามที่ได้สิทธิ์เป็น “ภูมิบุตรา” หรือ “คนติดแผ่นดิน” มีทั้ง “ผู้ขออาศัย” แบบตั้งรกราก ลงหลักปักฐานเป็นชุมชนแน่นแฟ้น เช่น กลุ่มชาวจีนและอินเดีย รวมไปถึงกลุ่มชาวบังคลาเทศ ปากีสถาน และชาติตะวันออกกลางอีกจำนวนหนึ่ง ที่อยู่อาศัยในฐานะเจ้าของธุรกิจร้านอาหารและทางด้านสินค้าส่งออก มีทั้ง “ผู้มาเยี่ยมเยือน” ที่แวะเวียนมาทำมาหากินอย่างเป็นวัฏจักรหมุนเป็นวงจร ทั้งแบบ “สัญญาจ้าง” ที่เป็นแรงงานถูกกฏหมาย (เช่นตัวฉัน) แบบ “ขาจร” ที่เป็นได้ทั้งแบบถูกกฏหมายแต่ไม่โปร่งใส และแบบไม่สนใจกฏหมายแต่อย่างใด แรงงานแบบขาจรนี้ มักจะ “ลาพักร้อน” จรกลับบ้านเกิด หรือใกล้ที่สุดคือข้ามเขตแดนเมื่อถึงกำหนดหมดเวลารอบงาน (ส่วนใหญ่คือ 30 วัน) เมื่อลาพักได้ร่วมอาทิตย์ เขาเหล่านั้นจะจรกลับมาใหม่ และแน่นอนว่า…จะจรมาจรไป.. โดยใช้วิธีเดิม เพราะกลันตันเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม การผสมกลมกลืนระหว่างผู้คนและวัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ณ พื้นที่แห่งนี้ ฉันได้เจอคนจีนที่พูดได้ทั้งภาษามลายูและทมิฬ เจอคนทมิฬที่สามารถอ่านเขียนได้ทั้งจีนและอาหรับ ในชุมชนชาวสยามที่ฉันคุ้นเคย เด็กๆ ชาวสยามนิยมสื่อสารด้วย “ภาษาผสม” อยู่บ่อยครั้ง ในหนึ่งประโยคอาจมีทั้งคำสยาม ไทยกลาง จีน และมลายูผสมรวมกัน เมื่อภาษาสามารถผสม อัตลักษณ์ของคนก็ปรับปรนกันได้ ฉันร่วมเป็นสักขีพยานงานแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ระหว่างชาวจีนและชาวสยาม ที่มีภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมการกินหมู เป็นสื่อกลางอยู่หลายครั้ง และในบางครั้งยังมีโอกาสร่วมงานแต่งงานระหว่างคนสยามกับชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียที่นับถือฮินดู ที่มีภาษามลายูเป็นสื่อกลาง และแน่นอนว่า “เนื้อวัว”เป็นสิ่งต้องห้ามของครัว เมื่อความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรมสามารถผสมสัดส่วนกันจนลงตัวได้ แน่นอนว่าอาหารก็ต้องมีรสผสม แม้มีรสชาติจากความทรงจำของท้องถิ่นเดิม แต่อาหารแต่ล่ะจานก็ล้วนผ่านการตัดลดขั้นตอน ปรับทอนรส จนเกิดเป็นอาหารรสชาติใหม่ที่ปรุงผสมตามวัตถุดิบที่พอจะมีในท้องที่ ที่พอจะทดแทนได้ทั้งในเชิงรสชาติและความรู้สึก คนกลันตันมีรสนิยมการกินอาหารที่หลากหลายแล้วแต่มื้อและโอกาส วันไหนอยากได้รสท้องถิ่นแบบมลายูดั้งเดิม ชุดผักสดพื้นบ้านนานาชนิดเคียงปลาทูย่าง จะถูกจัดเรียงมาพร้อมกับบูดูทรงเครื่องรสเค็มจัดของบูดูจะถูกตัดด้วยความเปรี้ยวด้วยน้ำมะนาวสด เติมรสเผ็ดร้อนจากพริกขี้หนูสวนที่ถูกบี้ด้วยมือ โรยด้วยหอมแดงซอยและฝอยเส้นมะม่วง หรือบางบ้าน อาจทรงเครื่องด้วยเนื้อทุเรียนสุกทียีผสมลงไป สำหรับคนกลันตันแล้ว “บูดู” คือเครื่องปรุงคู่ครัว ที่มีบทบาทหน้าที่รับใช้ปากท้องทุกชีวิต บูดูจะถูกเลือกจัดขึ้นโต๊ะในแทบทุกเทศกาล เป็นเครื่องเคียง ที่เสริมรสชาติหลัก และไม่ว่างานจะโอ่อ่าเพียงใด หากมีบูดู การกินด้วยวิธีเปิปด้วยมือ จะได้รสชาติดีที่สุด เพราะในระหว่างที่มือคลุกบูดู ผู้คนที่ล้อมวงร่วมกินในสำรับนั้น จะได้รับฟังเรื่องราวที่คลุกเคล้าและผลัดกันเล่าอย่างอบอุ่น เครื่องเทศกะหรี่แบบอินเดียก็เป็นอีกอย่างที่ควรลิ้มรส อยู่มาจะครบห้าปี ฉันยังแยกไม่ค่อยออกว่าน้ำแกงกะหรี่แต่ล่ะสี มีรสชาติต่างกันอย่างไร ฉันมักจะให้ทางร้านเลือกจับคู่น้ำแกงให้ฉัน เพียงเลือกน้ำแกงกะหรี่ผสมกันซักสองชนิดกินกับข้าวสวยร้อนๆ หรือกับข้าวขาวเม็ดยาวๆ ที่เรียกว่า “บริยานี่” หรือกับโรตีตบแผ่นใหญ่ กลั้วคอด้วยชาชักร้อนแก้วโตก็อร่อยได้รสชาติ ถ้าวันไหนอยากกินเมนูเส้น คงไม่มีใครจะสู้ครัวจีนได้ แม้คนไทยอย่างฉันจะคุ้นชินเมนูเส้นจากสารพันก๋วยเตี๋ยวที่ฝั่งไทยมี แต่ถ้ามาสั่งอาหารที่นี่ ก็จำเป็นจะต้องจำชื่อเส้นใหม่ ไม่อย่างนั้น อาจไม่ได้เมนูเส้นที่ใช่อย่างใจหวัง ที่นี่คำว่า “ก๋วยเตี๋ยว” คือ เส้นใหญ่ “หมี่” คือ Read More …